Close
title
f
title
แขวงทางหลวงอุตรดิตถ์ที่ 2
UTTARADIT 2 HIGHWAY DISTRICT
วิสัยทัศน์ : งานบำรุงทางสู่ระบบมาตรฐาน ประสานงานท้องถิ่น สนองตอบยุทธศาสตร์จังหวัดและประชาชนผู้ใช้ทาง
 
ข่าวสารทางหลวง
title
ทล.เตรียมเปิดการจราจรถนนแจ้งวัฒนะ 2 ทุ่ม คืนนี้ หลังซ่อมแซมจุดทรุดตัวแล้วเสร็จ พร้อมเตรียมแผนตรวจสอบโพรงใต้ถนนคอนกรีตและซ่อมบำรุงเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนและแก้ไขปัญหาระยะยาว

  นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวถึง กรณีเหตุถนนแจ้งวัฒนะทรุดตัว ในพื้นที่ ต.คลองเกลือ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ส่งผลให้มีการปิดเบี่ยงการจราจรจำนวน 1 ช่องทาง ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ซึ่งกรมทางหลวงขออภัยในความไม่สะดวกในการเดินทางของประชนเป็นอย่างยิ่ง กรมทางหลวงได้รับทราบและสั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบ หาสาเหตุ พร้อมซ่อมแซมเพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัยโดยเร็ว สำหรับเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในวันนี้ (10 พฤษภาคม 2567) เวลา 14.30 น. บนทางหลวงหมายเลข 304 หรือถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณ กม.ที่ 5+600 (ด้านขวาทาง) ในพื้นที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยได้สั่งการให้ นายศุภโชค มีอำพล ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 13 (กรุงเทพ) นายทวีศักดิ์ รุจิจรรยาวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักก่อสร้างสะพาน นายชัยวิทย์ ศิริตันตยาภรณ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนนทบุรี พร้อมด้วยทีมวิศวกรกรมทางหลวง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า จุดเกิดเหตุเป็นถนนผิวจราจรชนิดคอนกรีตทรุดตัวเป็นหลุมที่มีขนาดความกว้าง 40 เซนติเมตร ความยาว 90 เซนติเมตร และความลึก 80 เซนติเมตร มีลักษณะการยุบตัวแบบเฉพาะจุด โดยแขวงทางหลวงนนทบุรี และศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่3 (ปทุมธานี) ได้ร่วมกันดำเนินการซ่อมแซมโดยการใช้วัสดุทดแทนที่ได้มาตรฐานอุดในพื้นที่ที่เกิดการยุบตัว พร้อมเทปิดทับด้วยปูนเกร้าท์ซีเมนต์ โดยระหว่างรอปูนแข็งตัว ปิดทับด้วยแผ่นเหล็กเพื่อเปิดการจราจร ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถเปิดรถวิ่งเป็นปกติทุกช่องจราจรในเวลา 20.00 น.      อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้สั่งการและเน้นย้ำให้สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวงทั่วประเทศดำเนินการสำรวจและรายงานจุดเสี่ยงที่อาจเกิดการทรุดตัวบนทางหลวง เพื่อดำเนินการบริหารจัดการและดำเนินการซ่อมบำรุงทางหลวงทุกสายทางทั่วประเทศให้มีความแข็งแรงและปลอดภัย มาโดยตลอด สำหรับแนวทางการป้องกันการทรุดตัวของถนน กรมทางหลวงจะดำเนินการ สำรวจ Ground Penetration Radar ในทุกพื้นที่ โดยเริ่มจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการเกิดโพรงใต้ดินเป็นอันดับแรก
title
กรมทางหลวง ดำเนินโครงการก่อสร้างสายแยกทางหลวงหมายเลข 4 – ด่านสะเดาแห่งที่ 2 ตอน 2 (คู่ขนานมอเตอร์เวย์ M84 หาดใหญ่ - สะเดา) จ.สงขลา แล้วเสร็จ เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยให้กับผู้ใช้ทาง

กรมทางหลวง ดำเนินโครงการก่อสร้างสายแยกทางหลวงหมายเลข 4 – ด่านสะเดาแห่งที่ 2 ตอน 2 (คู่ขนานมอเตอร์เวย์ M84 หาดใหญ่ - สะเดา) จ.สงขลา แล้วเสร็จ เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยให้กับผู้ใช้ทาง   กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสายแยกทางหลวงหมายเลข 4 – ด่านสะเดาแห่งที่ 2 ตอน 2 ระหว่าง กม.61+200 - กม.62+596 ระยะทาง 1.369 กิโลเมตร ในพื้นที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งโครงการมีลักษณะเป็นการก่อสร้างทางหลวงมาตรฐานชั้นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (ไปกลับข้างละ 2 ช่องจราจร) เป็นคันทางคู่ขนานและเป็นถนน สายหลัก ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.5 เมตร ผิวทางแบบคอนกรีต (Concrete Pavement) พร้อมทั้งสะพานก่อสร้างใหม่ 4 แห่ง และติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยตามมาตรฐานกรมทางหลวง โดยโครงการดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นโครงการฯ ที่ กม.57+100 ของมอเตอร์เวย์สาย 84 (กม.0+000) ซึ่งต่อกับโครงการฯ มอเตอร์เวย์สาย 84 ที่แยกทางหลวงหมายเลข 4 จุดสิ้นสุดโครงการฯ ที่ กม.62+596 ของมอเตอร์เวย์สาย 84 (กม.5+496) เชื่อมต่อกับด่านศุลกากรสะเดาแห่งที่ 2   ทั้งนี้ เนื่องจากด่านชายแดนสะเดาเป็นด่านศุลกากรทางบกที่ติดต่อกับด่านบูกิตกายูฮิตัม ของรัฐเคตะห์ ประเทศมาเลเซีย เป็นด่านที่มีปริมาณการค้ามากที่สุดในประเทศไทย มีจำนวนยานพาหนะผ่านแดนจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่าน กรมศุลกากรจึงได้พัฒนาด่านศุลกากรสะเดาแห่งที่ 2 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการบริการนำเข้าและส่งออก สนับสนุนศักยภาพทางด้านการแข่งขันของประเทศ ดังนั้นการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานทางถนน ในการใช้เป็นเส้นทางหลักในการเข้า – ออกด่านศุลกากรสะเดาแห่งที่ 2 จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะช่วยให้การคมนาคมขนส่งมีความสะดวกรวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด   สำหรับโครงการก่อสร้างสายแยกทางหลวงหมายเลข 4 – ด่านสะเดาแห่งที่ 2 ได้แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน ได้แก่ ตอน 1 กม.57+100 - กม.61+200 และ ตอน 2 กม.61+200 - กม.62+596 โดยได้ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้ง 2 ตอน ซึ่งจะช่วยให้การคมนาคมและการขนส่งมีความรวดเร็ว เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและส่งเสริมนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา สนับสนุนศักยภาพทางด้านการแข่งขันของประเทศ รวมทั้ง การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระบบขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย             9 พฤษภาคม 2567 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมทางหลวง
title
กรมทางหลวงขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 229 สาย อ.มัญจาคีรี – แยกช่องสามหมอ จ.ขอนแก่น ระยะทาง 26.335 กม. แล้วเสร็จ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง กระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวภาคอีสาน

กรมทางหลวงขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 229 สาย อ.มัญจาคีรี – แยกช่องสามหมอ จ.ขอนแก่น ระยะทาง 26.335 กม. แล้วเสร็จ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง กระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวภาคอีสาน   นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางหลวงที่ 2 ได้ดำเนินการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 229 สาย อ.มัญจาคีรี - แยกช่องสามหมอ จ.ขอนแก่น เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 26.335 กม. แล้วเสร็จ เพื่อรองรับปริมาณการจราจรในอนาคต เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   ทางหลวงหมายเลข 229 สาย อ.มัญจาคีรี - แยกช่องสามหมอ เป็นทางหลวงสายสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประชาชนนิยมใช้บริการในการสัญจรระหว่างจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งเป็นเส้นทางเลี่ยงรถติดช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว ประกอบกับการดำเนินการตามนโยบายกระทรวงคมนาคมในการเชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทุกโหมดการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างขยายคันทางโดยขยายช่องจราจรจากเดิมขนาด 2 ช่องจราจร ให้เป็นขนาด 4 ช่องจราจร เพื่อรองรับปริมาณการจราจรเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมทางหลวงจึงได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 229 สาย อ.มัญจาคีรี - แยกช่องสามหมอ พื้นที่ อ.มัญจาคีรี และ อ.โคกโพธิ์ไชย จ.ขอนแก่น ตามแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน กิจกรรมเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร รวมระยะทางทั้งหมด 26.335 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ช่วง โดยมีจุดเริ่มต้นช่วงที่1 บริเวณ กม.17+625 - กม.19+559, ช่วงที่2 กม.26+300 - กม.37+875, ช่วงที่3 กม.39+650 - กม.41+075 และช่วงที่4 กม.43+220 - กม.54+621 โดยดำเนินการก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (ไป - กลับ) ผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบแบริเออร์คอนกรีตและเกาะกลางแบบยก รวมทั้งก่อสร้างสะพานคอนกรีต จำนวน 6 แห่ง ก่อสร้างจุดกลับรถ จำนวน11 แห่ง ก่อสร้างศาลาทางหลวง จำนวน 14 แห่ง พร้อมงานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างเพื่อความสะดวกและความปลอดภัยของผู้ใช้ทาง วงเงินงบประมาณ 1,129,429,778.94 บาท   ปัจจุบันโครงการฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ประชาชนสามารถใช้บริการสัญจรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัย ช่วยลดต้นทุนทางด้านการคมนาคมขนส่ง ส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน
ภาพกิจกรรม